หลักสูตร IB คืออะไร (International Baccalaureate)
ในการสมัครศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสำหรับนักเรียนนานาชาติคงจะเคยได้ยินคำว่า หลักสูตร International Baccalaureate (IB) กันมาพอสมควร ซึ่งในบางมหาวิทยาลัยก็ต้องการคะแนนสอบวัดระดับการศึกษาหลักสูตร IB แต่หลักสูตรนี้มันคืออะไร? สำคัญกับเราอย่างไร? มาหาคำตอบกัน
หลักสูตร IB หรือ International Baccalaureate Programme การศึกษาที่ถูกใช้ในประเทศเยอรมนีมาเกือบ 50 ปี เป็นหลักสูตรการศึกษา 3 ระดับที่จัดตั้งโดย International Baccalaureate Organization (IBO) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่า 156 ประเทศทั่วโลก
หลักสูตร IB ถูกเขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์ให้มีระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก เนื่องจากมีนักเรียนนักศึกษาที่จำเป็นต้องย้ายสถาบันจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง จึงต้องมีหลักสูตรที่รองรับเด็ก ๆ เหล่านั้น
ดังนั้นหลักสูตร IB จึงมีความพิเศษ มีเนื้อหาวิชาหลากหลายมากกว่าโรงเรียนทั่วไป วิชาเหล่านั้นได้สอนครอบคลุมวัฒนธรรมต่าง ๆ และนักเรียนต้องลงมือเรียนรู้เองเพื่อจะได้เติบโตทางด้านอารมณ์และสังคม พร้อมจะเข้าไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม
หลักสูตร IB (International Baccalaureate) แบ่งเป็น 3 ระดับ 6 กลุ่มวิชา
หลักสูตร IB แบ่งออกเป็น 3 ระดับการศึกษา ได้แก่
1) ระดับต้น (IB Primary Years Programme หรือ PYP) สำหรับนักเรียนอายุ 3 – 12 ปี
2) ระดับกลาง (IB Middle Years Programme หรือ MYP) สำหรับนักเรียนอายุ 11 – 16 ปี
3) ระดับประกาศนียบัตรนานาชาติ (IB Diploma Programme หรือ IBDP) สำหรับนักเรียนอายุ 16 – 19 ปี
เมื่อกล่าวถึงหลักสูตร IB คนมักจะหมายถึงหลักสูตรการศึกษาระดับที่ 3 (IBDP) ซึ่งเป็นช่วงต่อของมัธยมปลายกับมหาวิทยาลัย จึงได้รับความสนใจจากนักเรียนที่มีความสนใจไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ต่างประเทศ รวมถึงประเทศเยอรมนีด้วย
หลักสูตร IBDP ประกอบไปด้วย 6 กลุ่มวิชา ดังนี้
1.ภาษาและวรรณกรรม
เพื่อศึกษาความซับซ้อน และดื่มด่ำความรุ่มรวยของภาษาในบริบทที่หลากหลาย
2.ทักษะการใช้ภาษา
เพื่อศึกษาภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาละติน ภาษากรีก เพื่อให้เข้าใจการใช้ภาษาในบริบทและจุดประสงค์ต่าง ๆ รวมถึงทำความเข้าใจวัฒนธรรมต่างชาติผ่านการศึกษาภาษานั้น
3.ปัจเจกและสังคม
เพื่อฝึกการวิเคราะห์และศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมผ่านวิชาจำพวก จิตวิทยา ปรัชญา เศรษฐศาสตร์
4.วิทยาศาสตร์
ได้แก่ ชีววิทยา วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เคมี เทคโนโลยีการออกแบบ ฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ
5.คณิตศาสตร์
ได้แก่ วิธีการทางคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ระดับกลางและระดับสูง
6.ศิลปะ
นักเรียนจะศึกษาศิลปะหลายแขนงและเชื่อมโยงไปถึงบริบททางวัฒนธรรมของสาขานั้น เช่น เต้นรำ ดนตรี ภาพยนตร์ ละครเวที และทัศนศิลป์
การที่จะผ่านหลักสูตร IB Diploma Programme จะต้องสอบผ่าน 6 วิชาโดยจะต้อง
มีอย่างน้อยหนึ่งวิชาจากกลุ่ม 1 ถึง 5 และหนึ่งวิชาจากกลุ่ม 1, 2, 3, 4 หรือ 6
มีอย่างน้อยสามวิชาที่สอบแบบ Higher Level (HL) โดยที่เหลือเป็น Standard Level (SL)ซึ่ง HL ใช้เวลาเรียนประมาณ 240 ชั่วโมง ส่วน SL ประมาณ 150 ชั่วโมง
นอกจากนี้นักเรียนในหลักสูตร IB จะต้องผ่านเงื่อนไขอีก 3 ข้อ คือ
Theory of Knowledge (ToK)
Extended Essay (EE) และ
Creativity, Action, Service (CAS)
(1) Theory of Knowledge (ToK)
เป็นวิชาที่ออกแบบเพื่อให้นักเรียนแต่ละคนสะท้อนธรรมชาติแห่งความรู้ด้วยการทดสอบวิธีเรียนรู้ เช่น ความเข้าใจ อารมณ์ ภาษาและเหตุผล ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ รวมถึงกฏระเบียบในแนวทางวัฒนธรรมของตนเองและวัฒนธรรมของโลก เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ คณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เป็นต้น จะต้องเรียนไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมงและเขียน Essay 1,200-1,600 คำ
(2) Extended Essay (EE)
เป็นการเขียนเรียงความในหัวข้อที่ตนเองสนใจ ความยาว 4,000 คำ
(3) Creativity, Action, Service (CAS)
กิจกรรมนอกโรงเรียนที่นักเรียนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมงในแต่ละกิจกรรม
Creativity หมายถึง กิจกรรมที่ใช้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างกิจกรรมใหม่ๆ
Action หมายถึง กิจกรรมการเล่นกีฬา
Service หมายถึง การมีส่วนร่วมและทำกิจกรรมเพื่อสังคม
นอกจากคุณลักษณะสำคัญ 3 ระดับ และวิชาทั้ง 6 กลุ่มวิชาข้างต้นแล้ว หลักสูตร IB
ยังเป็นระบบที่แตกต่างจากระบบการเรียนทั่วไป ดังนี้
– กระตุ้นให้นักเรียนในทุกช่วงวัยคิดเชิงวิพากษ์
– ประยุกต์ใช้ข้อมูลวิจัยและโรงเรียนในเครือข่ายทั่วโลก
– สนับสนุนให้นักเรียนในทุกช่วงวัยศึกษาบริบททางสังคมทั้งในชุมชนและของโลก
– พัฒนาให้นักเรียนพูดได้หลายภาษา
ในสังคมที่เด็กรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากผู้บริโภคเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเรียนระบบ IB จึงสอดคล้องอย่างมากกับการสร้างนวัตกรที่เข้าใจปัญหา มองเห็นทางแก้ รู้จักวางแผน และลงมือทำจริง
– ได้รับการสนับสนุนให้คิดนอกกรอบและผลักดันการเรียนรู้ของตนเอง
– ได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาที่สามารถพาพวกเขาสู่มหาวิทยาลัยแนวหน้าของโลกได้
– ตื่นตัวทางวัฒนธรรมมากขึ้นผ่านการเรียนภาษาที่สอง
– รู้จักมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นท่ามกลางโลกที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ช่วงเวลาในการสอบหลักสูตร IB
การจัดสอบ IB จะมีขึ้นทั่วโลกปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ส่วนครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน
การสอบหลักสูตร IB แต่ละวิชา หากสอบไม่ผ่านจะสามารถสอบได้ใหม่อีกไม่เกิน 3 ครั้ง
นักเรียนที่มีสิทธิสอบ IB คือนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบ IB เท่านั้น
คะแนนเต็มของระบบ IB คือ 45 คะแนน ซึ่งมาจากคะแนนเต็ม 6 กลุ่มวิชา แต่ละกลุ่มวิชามีคะแนนเต็ม 7 คะแนน รวมเป็น 42 คะแนน ส่วนอีก 3 คะแนนมาจากผลงานในส่วน extended essay และ Theory of knowledge นักเรียนต้องได้คะแนนอย่างน้อย 24 คะแนนและผ่านการประเมิน Creativity, action, service จึงจะได้ประกาศนียบัตร
โรงเรียนที่ใช้หลักสูตร IB ในประเทศไทย
ในประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งได้ใช้หลักสูตร IB ในการเรียนการสอนแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะมีเพียงแค่หลักสูตรเดียวคือ หลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนานาชาติ (IBDP) เท่านั้น